ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)  (อ่าน 24 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 133
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)
« เมื่อ: วันที่ 5 พฤศจิกายน 2024, 23:32:58 น. »
Doctor At Home: ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)  

ต่อมไทรอยด์อักเสบ หมายถึง การอักเสบของเนื้อเยื่อไทรอยด์ ซึ่งมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันได้หลายชนิด ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง และต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส

สาเหตุ

1. ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง/ไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโต (chronic autoimmune thyroiditis/Hashimoto’s thyroiditis) เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง โดยร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ (antithyroid antibody) ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ พบมากในผู้หญิงวัยกลางคนและสูงอายุ อาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

โรคนี้อาจพบในผู้ที่มีความผิดปกติของสารพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner’s syndrome) หรือพบร่วมกับภาวะภูมิต้านตนเองอื่น ๆ เช่น เบาหวาน โรคแอดดิสัน เอสแอลอี โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ ไมแอสทีเนียเกรวิส ผมร่วงเป็นหย่อมไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

2. ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส มักเกิดขึ้นฉับพลันหลังเป็นโรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น คางทูม หัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น มักมีอาการอยู่นาน 2-3 เดือน แล้วหายไปได้เอง เรียกว่า ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน (subacute thyroiditis) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3-5 เท่า และพบบ่อยในช่วงอายุ 20-40 ปี

3. สาเหตุอื่น ๆ ซึ่งพบได้น้อย เช่น

    พบในหญิงหลังคลอด คือมีอาการหลังคลอดบุตร ภายใน 1-6 เดือน เรียกว่า ต่อมไทรอยด์อักเสบหลังคลอด (postpartum thyroiditis) ซึ่งพบว่าร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ คล้ายกับไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโต 
    ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน (acute suppurative thyroiditis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สแตฟีโลค็อกคัส สเตรปโตค็อกคัส เป็นต้น มักพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์มาแต่กำเนิด (เช่น persistent thyroglossal duct) และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เอดส์)
    ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล (Riedel’s thyroiditis/invasive thyroiditis) มักพบว่ามีภาวะเกิดพังผืด (fibrosis) ที่ต่อมไทรอยด์และอวัยวะอื่น ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ มักพบในผู้หญิงวัยกลางคนและสูงอายุ
    เกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น อะมิโอดาโรน (amiodarone) อินเตอร์เฟอรอน (interferon) เป็นต้น 

อาการ

ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง/ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโต ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดง จนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นแรมปี ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมไทรอยด์โตแบบกระจาย มีลักษณะแข็งแบบหยุ่น ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด อาจโตอยู่ข้างเดียว (ซึ่งทำให้คิดว่าเป็นเนื้องอกไทรอยด์) ผู้ป่วยมักมีภาวะขาดไทรอยด์ ร่วมด้วย

บางรายอาจมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน นำมาก่อนในช่วงแรก แล้วจึงมีภาวะขาดไทรอยด์ตามมา

ในรายที่เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบหลังคลอด มักมีอาการคอพอกร่วมกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหลังคลอดประมาณ 1-6 เดือน ซึ่งจะเป็นอยู่นาน 1-2 เดือน แล้วต่อมาเกิดภาวะขาดไทรอยด์ตามมาในช่วง 4-8 เดือนหลังคลอด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติได้เอง แต่มีโอกาสกำเริบซ้ำในการคลอดบุตรครั้งต่อ ๆ ไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นภาวะขาดไทรอยด์อย่างถาวรในที่สุด

ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันด้วยอาการไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คอโต เจ็บคอ ซึ่งอาจร้าวไปที่หู ขากรรไกร ท้ายทอย มักเจ็บมากขึ้นเวลาเงยคอไปข้างหลัง และทุเลาเวลาก้มคอลงข้างหน้า อาการมักเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ ในช่วงแรกอาจมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินร่วมด้วย แล้วต่อมามีภาวะขาดไทรอยด์ตามมา ซึ่งจะค่อย ๆ หายเป็นปกติได้เองในที่สุด (ซึ่งอาจใช้เวลานาน 2-3 เดือน) ส่วนน้อยอาจมีอาการกลับเป็นซ้ำ หรือกลายเป็นภาวะขาดไทรอยด์อย่างถาวร

ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรคติดเชื้อไวรัส (เช่น ไข้ หวัด คางทูม หัด) นำมาก่อน

ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน มักมีอาการไข้สูงฉับพลัน ร่วมกับเจ็บคอ คอโต เสียงแหบ กลืนลำบาก

ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล ผู้ป่วยมักมีอาการคอโต เป็นก้อนแข็ง โตเร็วและไม่เจ็บ อาจโตเพียงข้างเดียวหรือพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก็ได้ และอาจมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก หายใจลำบากร่วมด้วย ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยมีภาวะขาดไทรอยด์ร่วมด้วย น้อยรายที่อาจมีภาวะขาดพาราไทรอยด์เนื่องจากมีภาวะเกิดพังผืดของต่อมพาราไทรอยด์


ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญ คือ ภาวะขาดไทรอยด์

สำหรับต่อมไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโต นอกจากภาวะขาดไทรอยด์แล้ว ยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หัวใจโต หัวใจวาย ภาวะซึมเศร้า ความรู้สึกทางเพศลดลง หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้อาจมีทารกที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ หรือทารกมีความผิดปกติของสมอง หัวใจและไต


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มักตรวจพบอาการคอพอกหรือต่อมไทรอยด์โต

ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักมีไข้ต่ำ (37.5-38.5 องศาเซลเซียส) ต่อมไทรอยด์โตและกดเจ็บ

ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักมีไข้สูง (38-40 องศาเซลเซียส) ต่อมไทรอยด์โต กดเจ็บ มีลักษณะแดง ซึ่งมักเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ต่อมาอาจกลายเป็นฝี (กดนุ่ม) มักมีต่อมน้ำเหลืองข้างคอโต

ในรายที่เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง มักตรวจพบต่อมไทรอยด์โตแบบกระจาย ลักษณะแข็งแบบหยุ่น ๆ

ในรายที่เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล มักตรวจพบต่อมไทรอยด์โตเป็นก้อนแข็ง และยึดแน่นกับเนื้อเยื่อโดยรอบ

นอกจากนี้อาจตรวจพบภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (เช่น น้ำหนักลด ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น เหงื่อออก เป็นต้น) หรือภาวะขาดไทรอยด์ (เช่น น้ำหนักขึ้น หน้าและหนังตาบวมฉุ ชีพจรเต้นช้า ผิวหนังหยาบแห้งและเย็น ผมบางและหยาบ เป็นต้น)

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือดทดสอบการทำงานของไทรอยด์ (thyroid function test) ตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ สแกนต่อมไทรอยด์ อัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์ ในบางรายอาจทำการตรวจชิ้นเนื้อ (fine-needle aspiration biopsy) เพื่อแยกโรคมะเร็งไทรอยด์


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ดังนี้

    ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง ในรายที่มีภาวะขาดไทรอยด์ แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน ได้แก่ เลโวไทร็อกซีน กินวันละ 1-2 เม็ด ส่วนในรายระดับฮอร์โมนไทรอยด์ปกติ มักจะนัดมาตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจจะพบมีภาวะขาดไทรอยด์ตามมา
    ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส ให้แอสไพริน หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์อาจให้เพร็ดนิโซโลน

ถ้ามีภาวะขาดไทรอยด์ (ซึ่งมักเป็นชั่วคราว) แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ เช่น เอลทร็อกซิน ทดแทน

    ต่อมไทรอยด์อักเสบจากการติดเชื้อเฉียบพลัน แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ในรายที่กลายเป็นฝี อาจต้องทำการผ่าตัดระบายหนอง
    ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล แพทย์มักจะต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อแยกออกจากโรคมะเร็งไทรอยด์ หากพบว่าเป็นต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล ก็จะให้ยาทาม็อกซิเฟน (tamoxifen) ซึ่งมักจะช่วยให้ก้อนไทรอยด์ยุบลงได้ภายใน 3-6 เดือน และผู้ป่วยควรกินยานี้ต่อไปนานเป็นแรมปี ในรายที่ก้อนโตจนกดอวัยวะข้างเคียงหรือมีอาการปวด มักจะให้เพร็ดนิโซโลนร่วมด้วยในช่วงระยะสั้น ๆ ในรายที่ก้อนโตกดท่อลม (หายใจลำบาก) อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ส่วนในรายที่มีภาวะขาดไทรอยด์ก็จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการคอโต ต่อมไทรอยด์โตหรือเป็นก้อน หรือมีอาการไข้ และเจ็บตรงต่อมไทรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นต่อมไทรอยด์อักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด หรือคอโตมากขึ้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและปัจจัยที่ป้องกันได้ยาก

ควรหาทางป้องกันไม่ให้โรคกลายเป็นรุนแรงด้วยการดูแลรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง


ข้อแนะนำ

1. ต่อมไทรอยด์อักเสบที่เป็นเรื้อรัง มักเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง ผู้ป่วยจะมีอาการคอพอกโดยไม่มีอาการเจ็บคอและไม่มีไข้ และถ้าไม่มีอาการแสดงของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือภาวะขาดไทรอยด์ ก็อาจทำให้คิดว่าเป็นคอพอกธรรมดา ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการคอพอก ควรส่งตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ

2. อาการคอพอกที่มีอาการเจ็บปวดที่คอพอกและมีไข้ร่วมด้วยมักเกิดจากไวรัส แม้ว่าอาจมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือภาวะขาดไทรอยด์ก็มักจะเป็นอยู่เพียงชั่วคราว ส่วนใหญ่จะหายไปได้เองในที่สุด

3. ต่อมไทรอยด์อักเสบที่มีลักษณะคอโตเป็นก้อนแข็งหรือโตเร็ว ควรส่งตรวจชิ้นเนื้อเพื่อแยกออกจากมะเร็งไทรอยด์